วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
เด็กมีปัญหา ตอนที่ 1
เป็นที่พูดกันมากว่าการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน เพื่อให้เด็กสามารถดำรงชีวิตในอนาคตได้อย่างมี "ความสุข" นั้นเชื่อกันว่าจะต้องจัดการเรียนการสอนแบบที่เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกเป็นภาษานักการศึกษาว่า Problem based learning อะไรคือการเรียนรู้แบบนี้ เรียนแล้วจะเป็นคนก้าวร้าวชอบมีปัญหาไหม และที่สำคัญ มีแต่ปัญหาแล้วจะมีความสุขได้อย่างไรกันล่ะเนี่ย
การเรียนรู้แบบมีปัญหาเป็นตัวตั้ง อันที่จริงแล้วไม่ได้เอาปัญหามาตั้ง หรือเริ่มจากการตั้งโจทย์ หลายคนติดกับดักเกี่ยวกับคำ เลยเริ่มการเรียนรู้โดยการตั้งคำถาม หรือถามคำถามก่อน แล้วชวนเด็กๆไปค้นหาคำตอบ ไม่ว่าจะให้เด็กๆค้นคว้า ไปทัศนศึกษา หรือทำโครงงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ แล้วถือว่าเป็นอันจบกระบวนการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้แบบนี้พบได้ทั่วไป และบรรลุเป้าหมายได้ง่าย แต่ตื้นเขินมากในกระบวนการที่จะทำให้เกิดทักษะที่สูงขึ้นคือ "การคิดเป็น"
การนำไปสู่การสร้าง "เด็กมีปัญหา" มีเป้าหมายที่สำคัญสูงสุด อยู่ที่การสร้าง "ทักษะ" ของ "การคิดเป็น" แปลอีกครั้งหนึ่งว่า เด็กต้องคิดสร้างคำถามหรือเห็นปัญหาได้ด้วยตนเอง และอยากบุกตะลุยไปหาคำตอบด้วยวิธีการที่หลากหลาย เมื่อได้คำตอบก็นำมาคิดวิเคราะห์และหาข้อสรุปให้กับตนเอง อีกทั้งสังเคราะห์ต่อเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องราวอื่นๆในชีวิต โดยให้ความสำคัญกับ "สาระ" ที่เป็นคำตอบน้อยกว่า "ทักษะ" ที่เกิดขึ้น เพราะทักษะนี้จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆจนคิดได้กว้างขึ้น แยบยลขึ้น และสังเคราะห์ได้ชัดเจนมากขึ้น จนความสุขเกิดขึ้นเมื่อเกิดปัญญาที่พบว่า "มันเป็นเช่นนี้นี่เอง"
ฟังแล้วไม่น่าจะช่วยให้เด็กมีปัญหาเหล่านี้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย แต่ เชื่อได้ว่าเด็กมีปัญหา น่าจะได้เกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยชีวิตแน่นอน
ที่น่าสนใจต่อมาคือ พ่อแม่ และครูจะอยู่ที่ไหนในการเรียนรู้แบบนี้ เพราะเด็กมีปัญหาทั้งหลาย อาจจะไม่ต้องพึ่ง "สาระ" จากครูและพ่อแม่อีกต่อไปเมื่อเขาพบว่า สาระที่ครูและพ่อแม่มีนั้นไม่พอที่จะตอบคำถามของเขาอีกต่อไป งานไหว้ครูคงจะกลายเป็นงานวันไหว้ปัญหาแทน ท่าทางจะแย่
ลองมาแกะรอยกระบวนการเกิดปัญหาของเด็กๆดูว่า เด็กๆสร้างคำถามขึ้นได้อย่างไร เพราะเราแก่แล้วและใช้กระบวนการเหล่านี้น้อยลงไปมาก บางองค์กรใหญ่ๆที่ต้องการให้พนักงานสร้างนวัตกรรม (แปลว่า หาทางแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริง) บอกว่าให้ลองนึกถึงตนเองที่อายุ 6 ขวบ แล้วจะทำให้คิดออก ซึ่งยากมากสำหรับผู้สูงวัย เพราะทักษะนี้ไม่ได้ถูกพัฒนา และสังคมเองก็นิยมคนแก่ที่ไร้ปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะควบคุมและปกครองง่าย
กระบวนการแรกที่เด็กเริ่มเรียนรู้ คือ "การสังเกต" เด็กจะใช้สัมผัส ที่หลากหลายตามความสามารถที่มีเพิ่มขึ้นตามอายุ ไม่ว่าจากการได้ยินที่ในเด็กเล็กๆ จะเริ่มสังเกตและจดจำเสียงของแม่ เสียงของของเล่น จนถึงการมองเห็น การสัมผัส การได้กลิ่น การสังเกต จะส่งผลให้เกิดการจดจำและบันทึกเป็นข้อมูลเบื้องต้นในสมอง และสามารถเรียกใช้ความจำนี้ขึ้นมาใหม่ได้ตามที่ต้องการ และเมื่อเจอสิ่งนั้นอีกก็จะรู้จักสิ่งนั้น การสังเกต เป็นกระบวนการตั้งคำถามเบื้องต้น การมองเห็นกลายเป็นทักษะที่สำคัญในการเปิดรับรู้โลกของเด็กๆ แต่ในความจริงยังมีอีกหลายทักษะของการสังเกตเพื่อให้เกิดการรับรู้เช่นการได้ยินที่หลากหลาย ที่ได้ฟังเสียงต่างแหล่ง ต่างที่มา การดมกลิ่น อาจสามารถใช้กลิ่นระบุตัวตนโดยไม่ต้องมองเห็นหรือได้ยิน จนไปถึงการลิ้มรส และการสัมผัส การเรียนรู้ในหลากหลายวิธีในการสังเกตนี้ จะทำให้เกิดการฝึกฝนผัสสะต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้เกิดมิติของการทำความรู้จัก ความเข้าใจ และเข้าถึงจิตใจของสรรพสิ่งรอบตัวในรูปแบบของ"ความเข้าอกเข้าใจ" ที่มากกว่า "รู้จัก"
เมื่อโตขึ้น ทักษะนี้กลับกลายเป็นว่าพัฒนาน้อยลง อาจจะเป็นจากการใช้ชีวิตที่รีบเร่ง จนไม่มีเวลาเปิดสัมผัสกับสิ่งรอบตัว หรือคิดว่ารู้แล้วเข้าใจแล้ว และด่วนสรุป จึงทำให้ดำเนินชีวิตแบบ "ไม่มีปัญหา" เช่น ไม่เคยสังเกตว่า โฆษณาของถูกทุกวัน ราคาถูกนั้นเกิดจากอะไร เพราะเพิ่มประสิทธิภาพจนลดราคา หรือ บีบผู้ผลิตเช่น ชาวไร่ชาวนา จนหน้าเขียวและยากจนต่อไป อย่างต่อเนื่อง
พ่อแม่ และครู ควรจะมีบทบาทช่วยส่งเสริมให้การสังเกต จากสัมผัสหลากหลายเป็นเรื่องสนุก น่าสนใจ และชวนให้เด็กฝึกฝนทักษะนี้โดยไม่ไปตัดบท หรือเร่งรัดให้ไปสู่คำตอบที่เราคิดว่าเพียงพอและทันเวลาที่จำกัด การเอื้อให้เด็กมีชีวิตที่เชื่องช้าบ้าง โอ้เอ้บ้าง จะทำให้เขามีโอกาสได้สังเกตสิ่งต่างๆรอบตัวมากขึ้น
การสังเกต จึงเป็นการเรียนรู้เบื้องต้นที่หลายคนมองข้ามไป หลายคนเดินผ่านไปตามทางไม่เห็นดอกไม้ บางคนเห็นดอกไม้ ไม่รู้ว่ากลิ่นของเขาเป็นอย่างไร บางคนได้กลิ่น แต่ไม่รู้ว่าเขาบอบบางเพียงใด และเคยไหมที่เอาหูไปแนบใกล้ๆดอกไม้ บางที อาจจะได้ยินเสียงดอกไม้เขากระซิบกันนะ
ติดตามต่อไปว่า เด็กอุดมปัญหา จะ กลายเป็นเด็กอุดมปัญญาได้หรือไม่ และอย่างไร
เขียนโดยนายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์
ผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการโรงเรียนกาละพัฒน์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น