วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ส่งคำขอบคุณ แทน ของขวัญ

ถึง สมาชิกชุมชนกาละพัฒน์ทุกท่าน

ในโอกาสที่จะถึงวันเปลี่ยนผ่านปีพ.ศ. หลายคนก็ใช้โอกาสนี้แสดงความยินดีโดยการมอบของขวัญ การ์ดอวยพร
ให้กันและกัน ก็เลยอยากชวนคิดเรื่องนี้ครับ ว่าการให้ของขวัญในเทศกาลนี้ส่งความสุขได้จริงหรือ และหากไม่ให้ของขวัญ จะให้อะไรกันดีหละ จะได้มีความสุขกันทั่วหน้า

ข้อมูลจาก http://www.recycleworks.org/resident/holiday_facts.html บอกว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่เฉพาะในอเมริกา การ์ดอวยพรมียอดขาย 2.6 พันล้านใบ ซึ่งหากมาตั้งรวมกันในสนามฟุตบอลจะเท่ากับตึกสูง 10 ชั้น
โบว์ที่ผูกของขวัญรวมกันยาว 38,000 ไมล์ ซึ่งพันรอบโลกได้หนึ่งรอบพอดี
ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อได้รับก็ต้องให้ตอบ ให้กันไปให้กันมา เลยไม่รู้ว่าเป็นเทศกาลปล่อยของ หรือ ให้ความสุขกันแน่

Marcus Tullius Cicero (http://en.wikipedia.org/wiki/Cicero) นักปรัชญาชาวกรีกที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ 43 ปีก่อนคริสต์กาล ได้กล่าวว่า "ความรู้สึกชื่นชมและขอบคุณ" ไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคุณธรรม
แต่เป็นต้นกำเนิดของคุณธรรมอื่น ๆ ทั้งหมด นักจิตวิทยาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพบว่า "ความรู้สึกชื่นชมและขอบคุณ"
มีส่วนสำคัญมากต่อพื้นฐานของอารมณ์ และพบความสัมพันธ์ชัดเจนระหว่างความสุข กับการที่จะรู้จักชื่นชมและขอบคุณต่อสิ่งต่างๆ มีการทดลองเพื่อหาวิธีการเพิ่มความสุข Seligman และคณะทดลองและรายงานในปี 2005 พบว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยเขียนสิ่งที่ "ชื่นชมและอยากขอบคุณ" 3 อย่าง ทุกวัน (gratitude journals) พบว่าคะแนนความสุข (Happiness Score) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ว่าจะวัดซ้ำครั้งใดเมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าคะแนนเพิ่มขึ้นตลอด
แม้ว่าสิ้นสุดการวิจัยไปแล้ว ผู้เข้าร่วมหลายคนยังยืนยันที่จะทำต่อและงานวิจัยอื่นในรูปแบบนี้ก็ให้ผลยืนยันว่า
ได้ผลต่อความสุขที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ความรู้สึก "ชื่นชมและขอบคุณ" เป็นสิ่งที่ส่งผลอย่างมากต่อความคิดของคนเมื่อต้องเผชิญปัญหา
ผู้ที่มีพื้นฐานอารมณ์ "ชื่นชมและขอบคุณ" จะมีมุมมองเรื่องราวต่างๆ เป็นบวก แก้ปัญหาและอุปสรรคได้อย่างดี
ไม่มีจิตตก ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า มีแนวโน้มที่จะมองข้ามเรื่องแย่ๆ ของคนหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่สนใจมองแต่สิ่งดีๆแทน และส่งผลทำให้สุขภาพดี
มีงานวิจัยพบว่า หากจะให้ชีวิตคู่รักกันหวานแหววไปตลอด หากข้อดีที่จะ "ชื่นชมและขอบคุณ"
ให้ได้ 5 ข้อ ก่อนที่จะหาข้อตำหนิหรือไม่พอใจ หากในที่ทำงานเพื่อนร่วมงานกันให้มองหาสิ่งที่ "ชื่นชมและขอบคุณ"
ให้ได้ 3 ข้อ ก่อนที่จะตำหนิและไม่พอใจ 1 อย่าง

เรามักพบเรื่องราวแบบนี้ได้ในคนที่พบว่าเป็นโรคร้าย คนที่พิการทั้งตั้งแต่กำเนิด หรือจากอุบัติเหตุ
ที่เมื่อเปลี่ยนความคิดที่มา "ขอบคุณ" สิ่งร้ายๆ(ในสายตาคนอื่น) ว่าทำให้เขาเห็นคุณค่าของเวลาและชีวิต
และจะใช้เวลาที่มีอยู่นี้ทุกขณะทำสิ่งดีให้เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่เพื่อตนเอง แต่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนมากมาย
ซึ่งคนเหล่านี้กลับมีพลังอย่างมหาศาลจนบางครั้งก็หายป่วยจากโรคนั้นไปเลย

"ขอบคุณ" เป็นคำง่ายๆ และสุขใจทั้งผู้เอ่ยคำและผู้ฟัง ในเทศกาลปีใหม่นี้สามารถสร้างความรู้สึก "ชื่นชมและขอบคุณ" ขึ้นจากส่วนลึกของหัวใจ โดยการ "ชื่นชมและขอบคุณ" คนใกล้ตัว คนรัก คนไกลตัว ต้นไม้ อากาศ น้ำท่วม คราบรา
Big Bag นักการเมือง ฯลฯ

พูดออกมาเลย ใช้แรงไม่มาก ไม่ก่อขยะ แต่ติดตราตรึงในดวงใจไปอีกนาน

ส.ค.ส. “ส่ง ความสุข” เปลี่ยนมาเป็น ส.ค.ข. "ส่ง คำ ขอบคุณ" แทนการให้ของขวัญ เพื่อเป็นวัฒนธรรมนอกกะลา
เพราะสามารถลด Carbon foot print และสร้างความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ

ขอบคุณ ทุกคนที่มาร่วมกันสร้างความสุขให้งอกงามตามกาลเวลา ณ ชุมชนกาละพัฒน์ครับ

หมอก้อง

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พัฒนาการด้านอารมณ์

เมื่อเช้าน้องเนยนักเรียนชั้นอนุบาล 1 เดินเข้ามาโรงเรียนพร้อมกับคุณพ่อ คุณแม่ พอเดินมาถึงห้องเรียนของพี่ๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 น้องเนยก็เดินเลี้ยวไปด้านหลังห้อง เดินผ่านสนามเด็กเล่นไป พอพบกับคุณครูแจ๋ว น้องเนยก็กล่าวทักทายด้วยการสวัสดี พร้อมกับยกมือไหว้ด้วย หลังจากนั้นก็ยกนิ้วชี้ขึ้นมาทำสัญญาณให้เงียบ

น้องเนย:ครูแจ๋วน้องเนยจะไปจ๊ะเอ๋ คุณครูตาลและคุณครูภาข้างหลังห้องค่ะ

จากนั้นก็เดินย่องเบาๆๆ ไปจนถึงข้างหลังห้องเรียนอนุบาล 1 แล้วมองซ้าย มองขวาเพื่อไม่ให้คุณครูเห็น เมื่อรู้ว่าไม่มีใครเห็นจึงเดินเข้าไปให้ใกล้ที่สุด

น้องเนย: จ๊ะเอ๋

คุณครูและน้องเนยหัวเราะชอบใจ จึงเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เด็กมีความสุข คุณครูมีความสุขและทุกคนมีความสุข

มิตรภาพหรือความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้คลื่นสมองต่ำ พร้อมสำหรับการเรียนรู้ เพราะแต่ละคนอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย ไม่ต้องกดดัน ไม่ต้องระวังตัว

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ล้ม...แล้วลุก


เช้าวันหนึ่งได้ยินเสียงพี่ธรรม์ นักเรียนชั้นอนุบาล๒ วิ่งและหัวเราะมาอย่างสดใสร่าเริง จนกระทั่งมาสะดุดก้อนหินแล้วล้มลงไป ทำให้เข่าทั้งสองข้างและข้อศอกมีแผล จากเสียงหัวเราะก็เปลี่ยนไปเป็นเสียงร้องไห้ ยิ่งรู้สึกเจ็บมาก ยิ่งเปล่งเสียงร้องออกมาดัง เมื่อคุณครูแทนเห็นเหตุการณ์จึงเข้าไปช่วยปฐมพยาบาลให้ แต่พี่ธรรม์ยังไม่หายเจ็บ จึงนั่งร้องไห้ต่อ หลังจากที่คุณพ่อพี่ธรรม์ได้เก็บกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว จึงเดินกลับมาดูลูกชาย พร้อมพูดว่า

พ่อพี่ธรรม์:ทุกคนก็เคยล้มลูก อดทนนะ เดี๋ยวก็หาย

จากนั้นคุณพ่อก็ไปทำงาน คุณครูและผู้ปกครองคนอื่นๆ ต่างก็ช่วยกันเป็นกำลังใจให้พี่ธรรม์ บ้างก็เล่าเหตุการณ์ของตนเองที่เคยล้มมา บ้างก็เล่าเหตุการณ์ของลูกชายและลูกสาว ขณะเล่ายังทำท่าทางประกอบอีกด้วย ทำให้พี่ธรรม์รู้สึกผ่อนคลาย ย่อมรับและเข้าใจในเหตุการณ์เหล่านั้น จึงมีอาการเจ็บปวดน้อยลง พร้อมจะลุกขึ้นเดินด้วยตนเองอีกครั้ง โดยพยายามพยุงตัวลุกขึ้นและเดินต่อไปข้างหน้า ทั้งๆ ที่ยังรู้สึกเจ็บ แต่ด้วยกำลังใจจากตนเองและบุคคลรอบข้าง จึงทำให้สามารถเดินได้อีกครั้งและตลอดทั้งวันพี่ธรรม์ก็ทำทุกอย่างเหมือนปกติ

เช้าวันต่อมา พี่ธรรม์และคุณพ่อก็มาโรงเรียนด้วยรอยยิ้มและความสดใสเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือพี่ธรรม์รู้จักผู้ปกครองคนอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น มีการทักทายและถามถึงอาการของแผลเมื่อวานนี้ด้วย

รอยแผลจากการหกล้มของพี่ธรรม์ในครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่ง ที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด รู้สึกห่วงใย รู้สึกเอื้ออาทรต่อกัน รู้สึกไว้วางใจและปลอดภัย จึงมีพลังทำให้พี่ธรรม์กล้าลุกขึ้นและก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กระบวนการเรียนรู้ภาษา

การเรียนรู้ภาษาของโรงเรียนกาละพัฒน์ เป็นการเรียนรู้ภาษาโดยไม่ใช้แบบเรียน
แต่ให้เรียนรู้ผ่านการใช้ภาษาจริง จากการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลแวดล้อมและการเรียนรู้ผ่านวรรณกรรม
ในปีการศึกษาหนึ่ง จะแบ่งเป็น ๔ Quarter ซึ่งแต่ละQuarterจะเลือกมาให้เรียนรู้ไม่เหมือนกัน
เช่น นิทาน วรรณกรรมไทย วรรณกรรมต่างประเทศและวรรณคดีไทย

Quarter ๓ ของโรงเรียนกาละพัฒน์ เลือกวรรณกรรมต่างประเทศ เรื่องซนซนของโซฟี


















การสอนภาษา จะเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยที่ครูจะกระทำในสิ่งที่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรม ชง เชื่อม ใช้ ตามตัวอย่าง ดังนี้

ขั้นชง นักเรียนอ่านเรื่องโดยการอ่านออกเสียง(อ่านคนเดียว/อ่านต่อเนื่อง/อ่านพร้อมกัน)หรืออ่านในใจ หรือครูอ่านให้ฟัง แล้วเชื่อมโยงกับหลักภาษาที่ต้องการให้นักเรียนเข้าใจ














ขั้นเชื่อม นำเสนอคำที่ได้และแลกเปลี่ยนคำที่ได้กับเพื่อนในชั้น ซึ่งจะได้คำที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น วิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อตรวจสอบว่า ใช่หรือไม่ เพราะอะไร แล้วช่วยกันอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง หรือครูตั้งคำถามเพื่อให้เด็กแต่ละคนได้แสดงความคิด ได้รับฟังเพื่อรับรู้แง่มุมที่แตกต่าง เกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน โดยสอดรับกับพฤติกรรมสมอง คือ จำ เข้าใจ วิเคราะห์/สังเคราะห์ นำไปใช้ ประเมินค่า สร้างสรรค์

ขั้นใช้ให้นักเรียนได้ลงมือทำแบบฝึกหัด/งาน/ภาระงาน ที่สอดรับกับพฤติกรรมสมอง ดังตัวอย่างต่อไปนี้















































ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ภาษาในโรงเรียนกาละพัฒน์ จึงให้ความสำคัญกับการจัดประสบการณ์ให้เกิดการเรียนรู้จริง
อีกทั้งมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ รับรู้ ถ่ายทอด และใช้ภาษาเพื่อสื่อสารอย่างมีความหมาย

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความผูกพัน


พี่อัญญานักเรียนชั้นอนุบาล ๓ ที่เพิ่งเข้าเรียนใหม่ในโรงเรียนกาละพัฒน์ ของภาคเรียนที่ ๒ ซึ่งผ่านมา ๕ สัปดาห์
แต่ก่อนนั้นพี่อัญญาจะไม่ชอบไปโรงเรียนเลย ส่วนใหญ่จะอยู่บ้านกลับคุณแม่

จนกระทั่งเข้าเรียนโรงเรียนกาละพัฒน์ พี่อัญญาชอบมาโรงเรียนทุกวัน ไม่เคยขาดเรียนเลยสักครั้ง

ดังเหตุการณ์วันนี้ ตอนรับประทานอาหารกลางวัน คุณพ่อคุณแม่มาขออนุญาตรับลูกกลับบ้านก่อน
เพราะคุณพ่อคุณแม่จะไปทำธุระในตอนบ่าย เมื่อพี่อัญญาทราบว่าตนเองจะไม่ได้อยู่กับเพื่อนๆ แล้ว
จึงขอให้คุณครูช่วยบอกเพื่อนด้วย

พอรับประทานอาหารเสร็จ พี่อัญญาก็เดินโบกมือลาเพื่อนที่ละคน
ด้วยการเรียกชื่อ มองตา และโบกมือ ทำอย่างนี้กับทุกๆ คน
จากนั้นก็เดินไปบอกคุณครูก่อนกลับกับคุณพ่อคุณแม่

ท่าทางที่แสดงออกมา บ่งบอกถึงความรักและความผูกพันที่ทุกคนมีให้แก่กันและกัน
เป็นมิตรภาพในสังคมเล็กๆ ที่มีแต่ความปรารถนาดีต่อกันด้วยความจริงใจ

การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง

วันหนึ่งพี่ๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ชวนกันทำอาหารรับประทานเอง โดยไม่ให้คุณป้าแป๋ว(แม่ครัว)เตรียมอาหารกลางวันให้


ข้อตกลงที่ทุกคน(ครูและเด็ก)ได้ช่วยกันสร้างขึ้นมา มีอยู่ว่า

- หาวัตถุดิบที่มีในโรงเรียนกาละพัฒน์เท่านั้น

- จะไม่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในการเตรียมอาหาร

- อาหารทุกอย่างทุกคนช่วยกันเตรียม

- ทุกคนได้รับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน


เมื่อได้ข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว ครูก็สื่อสารให้ผู้ปกครองทราบถึงเป้าหมายและวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้

จากนั้นก็เริ่มกระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฎิบัติจริง

ครูและเด็กช่วยกันขุดมันเทศ ที่ปลูกข้างขุมเหมือง


ชวนกันเก็บผักในโรงเรียน












ช่วยกันปรุงอาหาร พร้อมสำหรับรับประทาน






คำกล่าวขอบคุณก่อนกินข้าว

ข้าวเอ๋ยข้าวสุก ต้องกินทุกบ้านทุกฐานถิ่น
กว่าจะมาเป็นข้าวให้เรากิน
ชาวนาสิ้นกำลัง เกือบทั้งปี
ต้องทนแดดทนฝนทนลมหนาว
กว่าจะได้ข้าวจากนามาถึงนี่
คนกินข้าวควรคิดดูให้ดี
ว่าผู้มีคุณแก่เราคือชาวนา
ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง
อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า
ผู้คนอดอยาก มีมากหนักหนา
สงสารบรรดา เด็กไม่มีกิน
ขอบคุณพ่อแม่ที่ให้กำเนิดเรามา
ขอบคุณโลกที่ได้ให้เราอาศัยอยู่
ขอบคุณทุกคนที่ให้หนูได้รับประทานอาหารในมื้อนี้
หนูจะรับประทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อย
ขอบคุณครับ/ค่ะ

คำกล่าวเหล่านี้เพิ่งเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในวันที่ได้ลงมือทำและสัมผัสเอง

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความรับผิดชอบร่วม



ตอนสมัยเป็นเด็กๆ คุณยายเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนคุณยายไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียนเหมือนทุกวันนี้ ทุกอย่างเรียนรู้อยู่ที่บ้านหรือวัดโดยมีพระเป็นผู้สอนหนังสือ ดังนั้นวัดจึงเป็นศูนย์รวมทุกคน ทั้งเด็กและผู้ปกครอง บนพื้นฐานแห่งความดีงาม

พอผ่านมารุ่นคุณพ่อคุณแม่เริ่มมีโรงเรียน ทุกคนมุ่งไปที่โรงเรียนมีคุณครูเป็นผู้สอนหนังสือ ต้องท่องจำบทเรียนทั้งหมดที่มีอยู่ในตำรา จากนั้นก็สอบวัดความรู้ทั้งหมดที่ท่องมาจากตำราเพียงแค่ครั้งเดียว แล้วก็นำคะแนนที่ได้มาตัดสิน เปรียบเทียบและจัดอันดับผู้เรียน เด็กๆ ที่ท่องตำราได้ทั้งหมดได้รับความภาคภูมิใจและคิดว่าตนเองเก่ง ส่วนคนที่ทำไม่ได้กลับรู้สึกแย่ ท้อแท้ ขาดความมั่นใจและได้รับการตีตราว่าโง่ จากนั้นคุณครูก็ส่งใบคะแนนนั้นไปให้ทางบ้านเพื่อให้ทุกคนรับรู้ว่าผลการเรียนของลูกเป็นอย่างไร โดยไม่มีทางได้รับรู้ว่า แต่ละวันที่โรงเรียนลูกทำอะไร ทำอย่างไรและลูกเป็นอย่างไร มารับรู้อีกครั้งตอนที่ได้รับผลการเรียนจากทางโรงเรียน การศึกษาให้คุณค่าที่คะแนนมากกว่าการพัฒนาความเป็นมนุษย์ ทุกคนจึงพยายามดิ้นรน ไขว่คว้าและวิ่งหาคะแนนเหล่านั้น

จากบทเรียนที่ผ่านมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่น ทำให้การศึกษาต้องหันกลับมาทบทวนกระบวนการทำงานระหว่างบ้านและโรงเรียน ทั้งสองส่วนต้องทำงานด้วยกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง

ทำไมโรงเรียนกาละพัฒน์จึงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับผู้ปกครอง
เนื่องจากทางโรงเรียนต้องการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งประกอบไปด้วย
- ความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ(SQ)และความฉลาดทางด้านอารมณ์(EQ)
- ความฉลาดทางด้านปัญญาการคิด(IQ)
- ความฉลาดทางด้านร่างกาย(PQ)

ซึ่งการปฏิบัติในวิถีโรงเรียนจะต้องทำอย่างมีความหมาย มีเหตุผลและคงเส้นคงวา ในขณะเดียวกันโรงเรียนยังต้องตระหนักอยู่เสมอว่าผู้ปกครองทุกคนมีส่วนเกื้อกูลต่อความก้าวหน้าของเด็ก การสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการที่หลากหลาย จะช่วยให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาในเชิงจิตวิญญาณซึ่งเป็นสิ่งนามธรรม ในที่สุดผู้ปกครองจะเข้ามามากขึ้น พร้อมที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในโรงเรียน เมื่อผู้ปกครองได้เรียนรู้วิถีชุมชนจากบทเรียนที่เกิดขึ้นจริงภายในโรงเรียน ผู้ปกครองก็จะนำกลับไปสู่ชุมชนจริงของตนเอง

การศึกษาคือความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียน

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เรียนรู้ผ่านการเล่น

เช้า กลางวันและเย็น จะเห็นคุณครูทุกคนเล่นอยู่กับเด็กๆ บางก็ชวนกันเล่นวิ่งไล่จับ บางก็เล่นกีฬาด้วยกัน บางก็เล่นทราย เล่นขายของ

ทำไมคุณครูต้องเล่นกับนักเรียน

เพราะการเล่นเป็นสิ่งที่เด็กๆ ทุกคนชื่นชอบ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายทางความคิด มีอิสระในการแสดงออก อีกทั้งลดช่องว่างระหว่างครูกับเด็ก สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ครูจะได้เข้าใจและเห็นคุณค่าเด็กแต่ละคน ด้วยการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะมีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่สามารถถ่ายทอดความเป็นมนุษย์สู่มนุษย์ได้














ความสัมพันธ์แนวราบระหว่างครูกับเด็ก จะลดความกลัวที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของทั้งครูและเด็ก



......ไม่ง้อพี่เต่าทอง....


เช้าวันที่ 25 พ.ย 54 ครูแทน ซินเซีย มุกดา เดินชมสวนห้องพวงชมพูที่เคยได้ปลูกดอกไม้ด้วยกัน อยู่ๆ ก็เห็น เต่าทองตัวใหญ่


ครูแทน: เด็ก ๆ มาดูพี่เต่าทองต้วใหญ่ ค่ะ น่ารักจังเลย


ซินเซีย มุกดา : โอ้โห้ ตัวใหญ่มากเลยค่ะ


มุกดา : ครูแทนตรงนี้ก็มีพี่เต่าทอง


ซินเซีย: ครูแทนตรงนี้ก็มีพี่เต่าทอง เยอะไปหมดเลย


.........ครูแทนและเด็ก ๆ ยิ้มด้วยความดีใจ.......


มุกดา: ดีจังเลยค่ะครูแทน เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องง้อให้พี่เต่าทองมาหาเราแล้ว


ซินเซีย : ใช่ เมื่อก่อนน่ะ ต้องไปจับมาปล่อยตรงพี่ดอกไม้ เดี๋ยวนี้นะไม่ได้เชิญมา ก็ยังมา (หัวเราะ)


...........เด็ก ๆ และครูแทน พากันหัวเราะ เพราะเดี่ยวนี้สวนกาละพัฒน์ ไม่ต้องง้อพี่เต่าทองแล้ว............

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สร้างชุมชน


ตอนเย็นทุกวันพุธหลังเลิกกิจกรรมในชั้นเรียน ทางผู้ปกครองจะร่วมกลุ่มมาจัดกิจกรรมให้ทุกคนได้มาเล่นและทำงานร่วมกัน
เช่น เล่นดนตรี กีฬา ทำอาหารและทำงานประดิษฐ์ โดยมีกลุ่มผู้ปกครองเป็นผู้จัด ส่วนนักเรียนและคุณครูเป็นผู้เข้าร่วมเรียนรู้ในกิจกรรมนั้นๆ

เมื่อวานคุณแม่ซันซันและซินเซีย คุณแม่ต้นไม้ คุณแม่ข้าวปั้นพาคุณครู นักเรียนและผู้ปกครองคนอื่นๆ ประดิษฐ์ของเล่นจรวดจากขวดน้ำ ซึ่งทีมผู้จัดได้วางแผนการทำงาน โดยประชาสัมพันธ์รับบริจาคขวดน้ำ จากนั้นก็แบ่งบทบาทหน้าที่ พร้อมทั้งเตรียมอุปกรณ์มาใช้สำหรับทำกิจกรรมด้วย พอถึงเวลาทุกคนก็ได้ลงมือทำของเล่นจรวดจากขวดน้ำและนำไปเล่นด้วยกัน ระหว่างเด็กกับเด็ก ครูกับเด็ก ผู้ปกครองกับเด็ก ผู้ปกครองกับผู้ปกครอง ทุกคนต่างได้เล่นด้วยกัน

ซึ่งเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง ครูและเด็ก ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีต่อการเรียนรู้ภายใน ทั้งยังเป็นแบบอย่างของสังคมแห่งการเกื้อกูลดูแลกันและร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

ก้อนหินช่วยมด


ตอนเช้าหลังจากเข้าแถวเคารพธงชาติ คุณครูจะพาเด็กๆ เดินสำรวจและชมธรรมชาติรอบๆ บริเวณโรงเรียน
เพื่อให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและกระตุ้นพลังชีวิต วันนี้คุณครูเอกได้ปล่อยน้ำลงไปในแปลงนา
ซึ่งมีสัตว์อาศัยอยู่ในนั้น เช่น ปลาดุก หอย มด แมลงและสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย
พอมีน้ำลงไปสัตว์ทุกตัวต่างพยายามดิ้นรนให้ชีวิตตนเองรอด ขณะเดินสำรวจ พี่บอสนักเรียนชั้นอนุบาล ๒
สังเกตเห็นมดพยายามจะหนีน้ำที่ไหลลงมา จึงคิดหาวิธีที่จะช่วยชีวิตมดเหล่านั้น แต่ยังคิดไม่ออก
จึงเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาร่างกายและสุนทรียะก่อน เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมคุณครูนิกพาเด็กๆ เดินกลับห้อง ระหว่างทางพี่บอสพบก้อนหินจำนวน ๒ ก้อน จึงเก็บก้อนหินติดมือมาด้วย พอเจอคุณครูแจ๋วพี่บอสก็เอยว่า

พี่บอส:คุณครูแจ๋วครับบอสฝากก้อนหินไว้กับคุณครูแจ๋วด้วยครับ
ครูแจ๋ว:ทำไมครับ
พี่บอส:เมื่อเช้ามีมดถูกน้ำท่วม บอสจะเอาก้อนหินไปทำสะพานให้มดหนีน้ำท่วมครับ
ครูแจ๋ว:ดีจังเลยมดเหล่านั้นจะมีคนใจดีมาช่วยชีวิตแล้ว ครูแจ๋วจะเก็บก้อนหินไว้ให้นะค่ะ ขอบคุณพี่บอสมากค่ะ

สิ่งเล็กๆที่มีพลังยิ่งใหญ่ คือจิตใจแห่งการให้และหวังดี

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความรู้สึกจากใจ


พี่ออสการ์นักเรียนชั้นอนุบาล ๒ นั่งรอเก็บถาดอาหารของตนเอง เพื่อนำไปล้างหลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จเรียบร้อย ช่วงขณะที่รอคุณครูจึงเข้าไปพูดคุยด้วย พี่ออสการ์จึงเอยถามว่า

ออสการ์:คุณครูแจ๋วเคยเข้าโรงเรียนไหมครับ
ครูแจ๋ว:เคยค่ะแต่โรงเรียนครูแจ๋วอยู่ที่บ้านนอก มีทุ่งนา วัว ควายและป่าไม้เยอะมากค่ะ
แล้วออสการ์ล่ะคะเคยเข้าโรงเรียนไหมค่ะ
ออสการ์:เคยเข้าครับ ที่โรงเรียนเก่าให้เด็กดูการ์ตูนตลอดเลย ครูก็ใจร้ายและตีเด็ก
ครูแจ๋ว:ทำไมครูใจร้ายและตีเด็กคะ
ออสการ์:เพราะเด็กดื้อ ไม่ฟังครู ไม่ทำตามที่ครูสั่ง
ครูแจ๋ว:ออสการ์เคยถูกตีไหมคะ
ออสการ์:เคยครับ เพราะตอนนั้นออสการ์ดื้อและไม่ฟังครู
ครูแจ๋ว:แต่โรงเรียนเก่าเปิดการ์ตูนให้เด็กๆดูไม่ชอบเหรอคะ
ออสการ์:ไม่ชอบครับ เพราะออสการ์ชอบเล่นทรายและเล่นกับเพื่อนมากกว่า
ครูแจ๋ว:ที่โรงเรียนกาละพัฒน์ออสการ์ชอบอะไรที่สุดคะ
ออสการ์:ชอบสนามเด็กเล่น ทราย เพื่อน คุณครู อาหารและชอบทุกอย่างเลยครับ
ครูแจ๋ว:อะไรที่ไม่ชอบล่ะคะ
ออสการ์:ไม่มีเลยครับ ออสการ์ชอบทุกอย่างเลยครับ

บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เมล็ดพันธุ์ที่ดีในจิตได้เติบโต ด้วยการให้ความรักและความเมตตาเสมอ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงทางจิตใจของเด็ก อีกทั้งความรู้สึกปลอดภัยไม่ได้ถูกคุกคาม
จะกระตุ้นการเรียนรู้และแรงจูงใจเชิงบวกได้อย่างดี

ธรรมชาติ....ธรรมดา


หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จเรียบร้อย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
ก็เดินสำรวจธรรมชาติจากโรงอาหารไปยังห้องเรียน

วันนี้เด็กสามคนได้หยุดยืน แล้วมองบริเวณทางเดิน ดูมด แมลงที่เดินเล่นอยู่บริเวณนั้น
ทั้งสามนั่งเฝ้าและสังเกตพฤติกรรมที่แสดงออกของสัตว์แต่ละชนิด บางก็เดินเซไปมา บางก็เดินชนกัน
ขณะนั่งดูก็ชอบใจในพฤติกรรมที่แสดงออกของสัตว์ จนส่งเสียงหัวเราะออกมาด้วยความพอใจ
คุณครูเห็นเด็กนั่งจึงเข้าไปร่วมสังเกตด้วย
คุณครู:มดเหล่านี้จะเดินทางไปไหนคะ
เด็กๆ:ไปบ้านของมัน ไปหากิน ไปเที่ยว
คุณครู:วันนั้นครูแจ๋วไปที่สนามบินเพื่อรับคุณครูใหญ่วิเชียรมาที่โรงเรียน ขณะที่ยืนรอรับก็เห็นชาวต่างประเทศมาภูเก็ตเยอะมาก
ทุกคนต่างหารถเพื่อเดินทางต่อไป สามีภรรยาคู่หนึงก็มีรถแท็กซีมารับออกจากสนามบินไป เมื่อครูใหญ่มาถึงพวกเราจึงขับรถออกจากสนามบินมา ระหว่างทางก็เห็นรถจอดเต็ม ทั้งรถตำรวจและรถหน่วยกู้ชีพ จึงขับมาอย่างช้าๆ จนเห็นว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รถแท็กซี ๒ คันชนกัน สภาพรถพังทั้งคน ตรงบริเวณเบาะหลังมีสามีภรรยาชาวต่างประเทศที่พึ่งนั่งแทกซี่ออกจากสนามบินมา บัดนี้พวกเขาได้กลายเป็นศพแล้ว พวกเราในรถจึงถามกันว่า "พวกเขามาที่ภูเก็ตเพื่ออะไร แล้วได้ทำสิ่งนั้นหรือยัง"
เด็กๆ:พวกเขาอาจมาเที่ยวในช่วงวันหยุด อาจมาทำงาน อาจมาพักที่บ้าน
คุณครู:เกิดอะไรขึ้นคะ
เด็กๆ:พวกเขาตาย เกิด แก่ เจ็บ ตายค่ะคุณครู
คุณครู:เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นอย่างไรคะ

เด็กๆ เดินไปที่ต้นประดู่แล้วชี้ใบเล็กที่กำลังงอกออกจากกิ่งแล้วพูดว่า"เกิดค่ะ"
ต่อมาก็ชี้ไปที่เหลืองมากๆ แล้วบอก"แก่" ใบที่มีรอยขาดหรือจุดด่างดำ "เจ็บ"
ส่วนใบที่ร่วงหล่นอยู่ที่พื้นดินแล้ว "ตาย"

เด็กๆ สามารถเปรียบเทียบความเป็นไปของธรรมชาติด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ขอบคุณ

นักเรียนชั้นอนุบาล ๑ เดินต่อแถวรถไฟมาที่โรงอาหาร โดยมีป้าแป๋ว(แม่ครัว)คอยจัดเตรียมอาหารไว้รอเด็กๆ
ขบวนรถไฟค่อยๆ เคลื่อนจากอาคารเรียนมาเรื่อยๆ จนมาถึงโรงอาหาร
ขณะเคลื่อนขบวนรถไฟมา เด็กๆ ช่วยกันร้องเพลงแจวเรือ ซึ่งในเพลงจะต้องเชิญแต่ละคนขึ้นมาแจว
พอมองเห็นป้าแป๋ว เด็กๆ ก็บอกว่า
...แจวเรือไปซื้อแก้ว(๒ รอบ)...ขอเชิญป้าแป๋วลุกขึ้นมาแจว

หลังจากนั้นทุกคนก็แยกย้ายกันนั่งที่โต๊ะอาหาร โดยมีคุณครูตาลเป็นผู้ดูแล
ครูตาล:ขอบคุณน้องเนย ขอบคุณน้องกอข้าว ขอบคุณน้องณัฎ ขอบคุณน้องซานจู

ขณะที่ครูตาลกำลังกล่าวชมเด็กๆ แต่ละคนอยู่นั้น เสียงก็เริ่มเงียบลง
ครูตาล:ขอบคุณเด็กๆ ที่น่ารักทุกคนค่ะ วันนี้น้องแจ็คๆ จะเป็นนำกล่าวขอบคุณข้าว เชิญน้องแจ็คๆ ค่ะ
น้องแจ็ค:ทุกคนพร้อม
ทุกคน:ข้าวเอ๋ยข้าวสุก ต้องกินทุกบ้านทุกฐานถิ่น
กว่าจะมาเป็นข้าวให้เรากิน ชาวนาสิ้นกำลังเกือบทั้งปี
ต้องทนแดดทนฝนทนลมหนาว กว่าจะได้ข้าวจากนามาถึงนี่
คนกินข้าวควรคิดดูให้ดี ว่าผู้มีคุณแก่เราคือชาวนา
ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง
อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า
ผู้คนอดอยาก มีมากหนักหนา
สงสารบรรดา เด็กไม่มีกิน
ขอบคุณพ่อแม่ที่ให้กำเนิดเรามา
ขอบคุณโลกที่ได้ให้เราอาศัยอยู่
ขอบคุณทุกคนที่ให้หนูได้รับประทานอาหารในมื้อนี้
หนูจะรับประทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อย
ขอบคุณครับ/ค่ะ
ครูตาล:เชิญเด็กดีรับประทานค่ะ
เด็กๆ:ขอบคุณค่ะ แจ็คๆ คุณครูตาล คุณครูภา คุณป้าแป๋วและคุณป้าสาว

หลังจากนั้นก็ลงมือรับประทานอาหารที่ป้าแป๋วได้จัดเตรียมไว้ให้ทุกคน พอได้ลิ้มรสอาหาร ก็บอกป้าแป๋วว่า
เด็กๆ:คุณป้าแป๋วอร่อยมากค่ะ

แล้วทุกคนก็รับประทานอย่างเอร็ดอร่อย

ทำไมทุกคนต้องกล่าวขอบคุณข้าว เพื่อน คุณครูและแม่ครัว

เพราะขณะเด็กกล่าวคำขอบคุณจะรู้สึกปิติ เกิดคุณค่าในตนเองและมองเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น

ดอกเอย....ดอกไม้

ณ บริเวณหน้าห้องเรียน คุณครูและเด็กๆ ได้ช่วยกันปลูกต้นไม้และดอกไม้หลากหลายชนิด
เช่น บานบุรี ชวนชม ตะไคร่ อัญชัน
เพื่อเป็นร่มเงาและจัดบรรยากาศให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะต้นอัญชัน พอเริ่มเติบโต ก็จะหาที่ยึดเพื่อเลื่อยจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง จนเติบโตเต็มที่
ก็ให้ดอกสีน้ำเงินม่วงบานสพรั่งเต็มต้น เด็กๆ เฝ้าสังเกตและรอคอยการเติบโตของดอกอัญชันแต่ละดอก
เด็กๆ บางคนเดินผ่าน แล้วเด็ดออกมากินสดๆ เสมือนขนมแสนอร่อย
เด็กๆ บางกลุ่ม ก็นำไปแปรรูปเป็น ดอกอัญชันชุบแป้งทอดหรือต้มทำน้ำอัญชัน

เมื่อวันจันทร์ ที่ ๒๑ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔

หลังจากรับประทานอาหารว่างเช้า พี่ปลื้มและพี่ลันตา นักเรียนชั้นอนุบาล ๒ ช่วยกันเก็บดอกอัญชัน ประมาณ ๒๐ ดอก
ใส่อุ้งมือทั้งสอง แล้วเดินมาหาให้คุณครู พร้อมเอยว่า
เด็กๆ:คุณครูแจ๋วค่ะ อยากทำดอกอัญชันทอดกรอบค่ะ
ครูแจ๋ว:เรามีกระทะและน้ำมันพืชไหมคะ
เด็กๆ:ไม่มีค่ะ
ครูแจ๋ว:จะทำอย่างไรกับดอกอัญชันที่เด็กๆ เก็บมาคะ
เด็กๆ:ไม่มีน้ำมันพืช แต่เรามีน้ำและกระทะ นำมาต้มได้ค่ะ
ครูแจ๋ว:กระทะไฟฟ้าอยู่ที่ไหนคะ
เด็กๆ:อยู่ห้องน้องอนุบาล ๑

เมื่อรู้ว่ากระทะไฟฟ้าอยู่ที่ห้องอนุบาล ๑ เด็กๆ ไม่รอช้ารีบวิ่งไปขอกระทะไฟฟ้า
จากนั้นก็ตั้งกระทะต้มน้ำจนเดือด แล้วนำดอกอัญชันใส่ลงไปในหม้อ เฝ้าสังเกตการเปลี่ยนสีจากสีขาวกลายสีน้ำเงินม่วง
ในทุกขั้นตอนเด็กๆ เฝ้ารอด้วยใจจดจ่อ เมื่อได้น้ำอัญชันแล้ว ก็นำไปรับประทานกับข้าว โดยตักน้ำราดลงไปในข้าว จากสีข้าวธรรมดาก็เปลี่ยนเป็นข้าวสีน้ำเงินม่วง

เหตุการณ์นี้เป็น กระบวนการเรียนรู้จากธรรมชาติ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง จนเกิดความรู้และความเข้าใจอย่างแท้จริง

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทำไมต้องมีวันหยุด

วันศุกร์ ที่ ๑๘ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔
ในตอนเย็นของวันนั้น เด็กๆ คุณครูและผู้ปกครองชวนกันมาขีดเขียนหรือวาดภาพ
พร้อมทั้งระบายสีตามพื้นทางเดิน เช่น รอยเท้าซ้าย-ขวาสลับกันไป ตารางสี เกมความน่าจะเป็น ตารางตัวเลข เป็นต้น
ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยกระตุ้นการคิด ค้นหาวิธีเล่น กระโดด และการเคลื่อนไหวร่างกาย
ซึ่งทุกคนช่วยกันทำด้วยความตั้งใจ ช่วยผสมสี วาด ขีดเขียน ระบายสี หรือบริการส่งสีจากจุดผสมไปยังที่วาดระบายสี
เริ่มทำงานตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐ น.จนถึงเวลา ๑๗.๐๐ น. พอทำทุกอย่างเสร็จสิ้น พี่แอนนี่นักเรียนชั้นอนุบาล ๓ ก็เดินสำรวจตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด จากนั้นก็เดินเวียนอีกรอบ แล้วมายืนเกาะรั้วแล้วมองไปที่ขุมน้ำนานพอสมควร
คุณครูเห็นพี่แอนนี่ยืนคนเดียวจึงเดินเข้าไปทัก
คุณครู:ทำอะไรคะ
พี่แอนนี่:ดูต้นมันเทศ ครูแจ๋วเคยกินไหมคะ
คุณครู:เคยกินค่ะ ทำไมพี่แอนนี่รู้จักต้นมันเทศล่ะคะ
พี่แอนนี่:คุณครูแทนเคยพาพวกหนูมาขุดแล้วเอาไปเผากินค่ะ

พอพูดจบก็ยืนเงียบสักพัก แล้วก็เอยขึ้นว่า
พี่แอนนี่:คุณครูแจ๋ว ทำไมต้องมีวันหยุด หนูอยากมาโรงเรียนทุกวันเลย จะได้เล่นกับเพื่อนๆและได้พบคุณครูด้วยค่ะ
แล้วพี่แอนนี่ก็หันมายิ้มให้คุณครู ส่วนคุณครูก็ส่งยิ้มให้ จากนั้นทั้งสองก็จับมือกันยืนมองสายน้ำ ทุ่งหญ้าและต้นไม้ต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พบ ผอ.


หลังรับประทานอาหารว่างเช้า เป็นช่วงพัฒนาการคิดและจินตนาการ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในกิจกรรมสี่หลักของนักเรียนชั้นอนุบาล เช่น กิจกรรมพัฒนาร่างกายและสุนทรียะ, กิจกรรมจิตศึกษา,กิจกรรมพัฒนาสติปัญญา ,กิจกรรมพัฒนาการคิดและจินตนาการ โดยให้เด็กๆ ได้เล่นอิสระตามจินตนาการที่บริเวณสนามเด็กเล่นและมีอุปกรณ์ต่างๆ ให้ใช้ประกอบการเล่น

วันหนึ่งขณะที่พี่ลันตา นักเรียนชั้นอนุบาล ๒ กำลังเล่นกะลา ใบที่มันแตกอยู่แล้ว มันจึงขูดที่นิ้วทำให้ถลอกเล็กน้อย
พี่ลันตาจึงเดินไปหาคุณครูแล้วบอกว่า
พี่ลันตา:หนูจะไปหาครูแจ๋ว

แล้วพี่ลันตาก็เดินมาหาคุณครูแจ๋วที่ห้องทำงาน ก่อนจะถึงห้องทำงานของครูแจ๋วจะต้องผ่านโรงอาหารก่อน ตอนนั้นป้าแป๋วและป้าสาวกำลังเตรียมอาหารกลางวันไว้ให้เด็กๆ พอเห็นพี่ลันตาเดินมา ป้าทั้งสองจึงร้องถาม
ป้าแป๋ว: พี่ลันตาจะไหนคะ
พี่ลันตา: ไปหา ผอ(ซึ่งไม่เคยมีใครเรียก ส่วนใหญ่ทุกคนจะเรียกว่า"ครูแจ๋ว")
ป้าสาว: มีอะไรคะ บอกป้าก่อนได้ไหม
พี่ลันตา: หนูจะไปหา ผอ

จากนั้นพี่ลันตาก็ไม่รอช้า รีบเดินขึ้นมาหาอย่างรวดเร็ว พอเห็นหน้า
พี่ลันตา: หนูคิดถึงครูแจ๋วค่ะ
ครูแจ๋ว: ครูแจ๋วก็คิดถึงหนูค่ะ มีอะไรให้ครูแจ๋วช่วยไหมค่ะ
พี่ลันตา: นิ้วหนูถลอก ครูแจ๋วช่วยทำแผลให้หนูหน่อยค่ะ

แล้วสองคนก็ช่วยกันทำความสะอาดและปฐมพยาบาลเบื้องต้น
จากเหตุการณ์ครั้งนี้พี่ลันตาได้เรียนรู้ ได้เผชิญและแก้ปัญหา ด้วยประสบการณ์จริง

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทำไมป้าไม่ทำงาน

ป้าแป๋วเป็นแม่ครัวที่ำทำอาหารให้เด็กๆ คุณครูและพนักงานทุกคนของโรงเรียนกาละพัฒน์ได้รับประทาน

ในทุกวัน คุณครูก็จะพาเด็กๆ มารับประทานอาหารที่อาคารเอนกประสงค์ โดยมีคุณป้าแป๋วและคุณป้าสาวคอยบริการอาหารให้เด็กๆ

วันหนึ่งขณะรับประทานอาหารกลางวัน น้องภูเก็จ นัักเรียนชั้นอนุบาล ๑ จะเติมอาหารเพิ่มจึงยกถาดอาหารมาบริเวณเติมอาหาร
แต่ป้าแป๋วและป้าสาวไม่ได้อยู่บริเวณนั้น เพราะป้าสาวไปทำความสะอาดห้องเรียน ส่วนป้าแป๋วเข้าไปเตรียมอาหารว่างบ่ายในครัว
คุณครูจึงลุกขึ้นไปช่วยเหลือ น้องภูเก็จมองหน้าด้วยความสงสัย พอป้าแป๋วทำทุกอย่างเสร็จจึงเดินออกมา

น้องภูเก็จ : ป้าสาวไปไหนครับ
ป้าแป๋ว : ป้าสาวไปทำงานค่ะ
น้องภูเก็จ : แล้วทำไมป้าแป๋วไม่ทำงาน
ป้าแป๋ว : (ยิ้ม)ป้าแป๋วไปทำงานในครัว ไม่ได้ทำงานตรงนี้ครับ
น้องภูเก็จ : (ยิ้ม)เหรอ

จากนั้นน้องภูเก็จก็นำถาดอาหารไปล้าง ด้วยรอยยิ้ม ส่วนป้าแป๋วก็ยืนมองดูด้วยความเอ็นดูในความช่างคิดช่างถาม

เทียนทอด


ทำไมเทียนถึงหมดเมื่อทอดไปนานๆ

เด็กอนุบาล ๑ เรียนรู้เกี่ยวกับที่มาของเล่นและของใช้ ทั้งจากธรรมชาติและสังเคราะห์ขึ้นมา วันหนึ่งคุณครูให้ทุกคนนำเทียนมาคนละแท่ง จากนั้นก็ช่วยกันตัดให้มีขนาดเล็กลง แล้วนำเทียนที่ตัดเหล่านั้นใส่ลงในกระทะไฟฟ้า แล้วให้ทุกคนนั่งสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ขณะที่นั่งสังเกตอยู่นั้น มีเสียงของเด็กๆ เอยออกมาว่า

เด็ก :คุณครูเรากำลังทอดเทียนใช่ไหมคะ
คุณครู:ค่ะ
เด็ก : วันนี้เราจะได้กินเทียนกรอบๆ เหมือนหมูทอด

ขณะนั่งสังเกตไปเรื่อยๆ ก็เห็นว่าเทียนในหม้อเหลือน้อยลง แต่น้ำเทียนเริ่มละลายเยอะขึ้น
เด็ก : คุณครูทำไมเทียนถึงหมดเมื่อทอดไปนานๆ แล้วจะเหลือเทียนกรอบๆ เหรอคะ
คุณครู :(ยิ้ม)ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นคะ

เด็กๆ ทุกคนนิ่งเงียบ เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของเทียนจากก้อนแข็งๆ กลายเป็นของเหลว แล้วก็กลับมาเป็นของแข็งอีกครั้ง
ซึ่งก็เกิดคำถามขึ้นมากมายระหว่างการทำกิจกรรมนี้ แต่คุณครูจะไม่ผลีผลามบอกความรู้เหล่านั้น
ตรงกันข้ามกลับใช้คำถามกระตุ้นให้เกิดความสงสัยใคร่รู้อยู่ตลอดเวลา

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นาฬิกา

เช้าวันพฤหัสบดี ที่ ๒๗ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ขณะที่ผู้ปกครองทุกคนมาส่งเด็กๆ ทุกคนต่างสาละวนกับการทำภาระกิจส่วนตัว เช่น ส่งหนังสือนิทาน ส่งสมุดสื่อสารบ้านและโรงเรียน จัดของใช้ส่วนตัวไว้ในตู้เก็บของ เป็นต้น จนกระทั่งได้เวลาเข้าแถวเคารพชาติ พี่ซันซัน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ซึ่งอยู่ในห้องเรียนก็มองนาฬิกา เห็นเข็มสั้นชี้ที่เลข ๘ เข็มยาวชี้ที่เลข ๑๒ รู้ตัวว่าได้เวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ จึงเดินออกมาแล้วมองนาฬิกาที่แขวนอยู่บริเวณสนามเด็กล่น เห็นเข็มสั้นใกล้ถึงเลข ๘ เข็มยาวชี้ที่เลข ๑๑ จากนั้นก็เดินดูแต่ละห้องเรียน ก็พบว่านาฬิกาแต่ละจุดไม่เท่ากัน จึงเกิดคำถาม "ทำไมนาฬิกาในโรงเรียนแต่ละจุดจึงบอกเวลาไม่เท่ากัน มีสาเหตุมาจากอะไร" ช่วงเวลานั้นคุณครูก็ใช่คำถามกระตุ้นต่อ "ทำไมล่ะคะ" คำถามนี้จึงกระตุ้นความสงสัยใครรู้และอยากหาตอบต่อกับเรื่องนาฬิกา
เช้าวันศุกร์ ที่ ๒๘ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ เมื่อพี่ซันซันทำภาระกิจส่วนตัวเสร็จ ก็เดินสำรวจนาฬิกาแต่ละห้องเรียนพร้อมกับคุณครู อีกทั้งช่วยตั้งเข็มให้บอกเวลาได้ใกล้เคียงกันที่สุด แต่คำถามว่า"ทำไมนาฬิกาในโรงเรียนแต่ละจุดจึงบอกเวลาไม่เท่ากัน มีสาเหตุมาจากอะไร" ก็ยังคงอยู่ในความสงสัยใครรู้อยู่ โดยคุณครูจะไม่ผลีผลามบอกความรู้ แต่จะทอดเวลาให้คิดใคร่ครวญและพยายามหาคำตอบด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจมากกว่าการท่องจำ

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มิตรภาพในชุมชน


วันพฤหัสบดี ที่ ๒๗ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จเรียบร้อย พี่อัลลี่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
ก็เดินถือถาดอาหารไปล้างที่อ่างล้างจานเพื่อล้่างให้สะอาด ขณะที่ยืนล้างอยู่นั้นเอง พี่อัลลี่ก็เปล่งเสียงออกมาว่า

พี่อัลลี่ : คุณป้าสาวค่ะๆ(แม่บ้าน)
ป้าสาว : ค่ะพี่อัลลี่
พี่อัลลี่ : หนูควรทำงานค้างตอนไหนดีคะ
ป้าสาว : งานค้างคืออะไรคะ
พี่อัลลี่ : งานที่หนูยังทำไม่เสร็จในวันนี้ค่ะ
ป้าสาว : ถ้าหนูทำเสร็จตอนเที่ยงนี้ ตอนเย็นนี้หนูจะได้เล่นกับเพื่อนๆนะค่ะ
พี่อัลลี่ : ขอบคุณค่ะคุณป้าสาว

จากนั้นพี่อัลลี่ก็นำถาดอาหารไปคว่ำไว้ แล้วรีบกลับห้องเรียนเพื่อแปรงฟันและทำงานที่ยังทำไม่เสร็จต่อไป

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

รับสมัครนักเรียน ประจำภาคเรียนที่ 2

                           โรงเรียนกาละพัฒน์ จังหวัดภูเก็ต 
เปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 

ระดับที่เปิดรับสมัคร
ชั้นอนุบาล 1 จำนวน 1 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 15 คน (รับเพิ่ม 8 คน)
                     คุณสมบัติ อายุ 3 ปีบริบูรณ์ (เกิดก่อนวันที่ 15 พ.ค. 2551)
ชั้นอนุบาล 2 จำนวน 1 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 15 คน (รับเพิ่ม 10 คน)
                     คุณสมบัติ อายุ 4 ปีบริบูรณ์ (เกิดก่อนวันที่ 15 พ.ค. 2550)
ชั้นอนุบาล 3 จำนวน 1 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 15 คน (รับเพิ่ม 11 คน)
                     คุณสมบัติ อายุ 5 ปีบริบูรณ์ (เกิดก่อนวันที่ 15 พ.ค. 2549)

## หมายเหตุ : ปี 2554 โรงเรียนยังไม่พร้อมจะเปิดรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ##

ระยะเวลาดำเนินการ
1 ส.ค. - 30 ก.ย. 2554  >> รับสมัครนักเรียน 
                                          >> ชี้แจงกระบวนการและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรงเรียน 
                                          >> ตรวจสอบคุณสมบัติ 
                                          >> สัมภาษณ์ผู้ปกครองและเด็ก
3 ต.ค. 2554                 >> ประกาศรายชื่อนักเรียน ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554
4 ต.ค. 2554                 >> รายงานตัว
16 ต.ค. 2554               >> ปฐมนิเทศผู้ปกครองใหม่

หลักฐานที่ใช้ในการสมัคร
        1. รูปถ่าย 1 แผ่น
        2. สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ฉบับ
        3. สำเนาสูติบัตร จำนวน 1 ฉบับ
        4. อื่นๆ เช่น หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล

ค่าใช้จ่าย
        1. อัตราค่าเล่าเรียน ปีการศึกษาละ 70,000 บาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ภาคเรียน ภาคเรียนละ 35,000 บาท (รวมอาหารกลางวัน 1 มื้อ อาหารว่าง 2 มื้อ นม สื่อ และอุปกรณ์การเรียน)
        2. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องใช้ส่วนตัว โดยประมาณ ซึ่งจะคิดตามอัตราจริงทุกรายการ (ระดับอนุบาล 850 บาท และระดับประถม 500 บาท ตามรายการดังนี้ ที่นอน ผ้าเช็ดตัว เสื้อเอี๊ยมกันเปื้อน)  
        3. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ กรณีออกทัศนศึกษานอกสถานที่

เครื่องแบบการแต่งกาย
นักเรียนชาย   >> เสื้อนักเรียนสีขาว แขนสั้น ปล่อยชาย กระเป๋าด้านซ้ายปักตราสัญลักษณ์โรงเรียน
                            >> กางเกงนักเรียน ขาสั้น สีกรมท่า
                            >> รองเท้าหนังสีดำ กรณีแต่งชุดนักเรียน และรองเท้าผ้าใบสีขาว กรณีแต่งชุดกีฬา
นักเรียนหญิง  >> เสื้อนักเรียนสีขาว แขนสั้น ปล่อยชาย กระเป๋าด้านซ้ายปักตราสัญลักษณ์โรงเรียน
                            >> กระโปรงนักเรียน สีกรมท่า
                            >> รองเท้าหนังสีดำ กรณีแต่งชุดนักเรียน และรองเท้าผ้าใบสีขาว กรณีแต่งชุดกีฬา

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เริ่มเรียนรู้

...........................มีโอกาสได้มาเจอกัน ระหว่างครูนักเรียน..................
...............คุณครูมีหหน้าที่ที่จะทำให้เด็กๆ รู้สึกว่า.............................
..................โรงเรียน คือ ที่ที่เขามาแล้วมีความสุข......................
...................มีเรื่องราวสนุกๆ ให้เขาได้ทำได้ค้นหา....................
...............มีแต่คุณครูที่ใจดีมีเมตตา และเข้าใจเขา.........................
.........มีเพื่อนที่น่ารักได้เดินเล่นด้วยกันจับมือคุยกันไป.....................
.............ระหว่างทางก็มีสิ่งน่าอัศจรรย์ใจมากมาย..........................
.....เรื่องเล่าของคุณครูจะช่วยเพิ่มความอยากที่จะเรียนรู้......................
บวกกับความตื่นเต้น.....ที่ได้พบสิ่งอัศจรรย์จากธรรมชาติมากมาย........
........สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างฉันทะข้างในตัวเด็กให้เกิดขึ้น.................
..........มันจะค่อยๆ บ่มเพาะอยู่ภายในตัวของเด็กๆ เอง....................
...............เขาจะซึมซับเรื่องราวความงามของธรรมชาติ..............
ให้รู้สึกรักและหวงแหนอยากจะดูแล ความดีงามก็จะเกิดขึ้นกับเด็ก
.........มาร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยกันค่ะ....................


วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความสุขแห่งการเรียนรู้ 2

จบลงพร้อมความงอกงาม.........ใน Quarter 4 กับ........................
.......................โครงงาน "สายน้ำแห่งชีวิต".................................

ความงอกงามของน้องอนุบาล 1 ดูเป็นรูปร่างมากขึ้นเห็นได้จากความตั้งใจในการทำกิจกรรมต่างๆ มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมีน้ำใจช่วยเหลือและแบ่งปันกันเสมอ เรียนรู้ที่รอคอย เฝ้ารอรับโอกาสอย่างตั้งใจ รู้จักเขารู้จักเรามากขึ้น
.....เด็กๆ ซึมซับความรู้สึกรักและอยากที่จะรู้จากพลังของบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ที่คุณครูแอบก่อเอาไว้อย่างแยบยล จนคุณครูมิอาจทนแรงพลังความอยากเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ โครงงาน "สายน้ำแห่งชีวิต" จึงได้เกิดขึ้นด้วยพลังความอยากเรียนรู้ของเด็กๆ ทุกๆ วันที่มาเรียน เด็กๆ จะจดจ่อรอคอยกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นที่คุณครูเตรียมไว้ให้เด็กๆ ได้ทำร่วมกัน


มีรอยยิ้มของเด็กๆ ในทุกกิจกรรม เรื่องเล่าสั้นๆ ที่แต่ละคนพูดถึง"สายน้ำ" คือองค์ความรู้ใหม่ที่เพื่อนๆ ได้รับและนำกลับไปถ่ายทอดให้คุณพ่อคุณแม่ฟังที่บ้านอย่างมีความสุข


............เด็กๆ ทุกคนเกิดความเข้าใจว่าทำไมเราต้องลดโลกร้อน? ทำไมต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้ให้คุ้มค่า? เด็กๆ ช่วยกันแสดงความคิดเห็น...นำเสนอวิธีที่ช่วยดูแลอนุรักษ์น้ำให้อยู่คู่กับโลกต่อไป



สายน้ำแห่งชีวิต....ค่อยๆ ไหลรินหล่อเลี้ยงให้เด็กๆ ทุกคนค่อยๆ งอกงามตามกาลเวลาไม่เร่งดอกเร่งใบให้ร้อนรน ค่อยๆ ส่งแผ่ความเย็นผ่านหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาที่จะเรียนรู้

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

การเดินทาง

การเดินทางของหญิงสาวบ้านนอก เมื่อมาถึงภูเก็ต เธอเข้าพักที่ Mr.K Apartment ซึ่งห่างจากโรงเรียนกาละพัฒน์ ประมาณ 1 กิโลเมตร ตั้งอยู่ถนนเจ้าฟ้่าตะวันตก เป็นถนนที่มีรถวิ่งมากมาย เพราะถนนสายนี้มีโรงเรียนหลายแห่งและห้างสรรพสินค้าด้วย ทุกเช้าเธอจะเดินเท้าไปโรงเรียน ใช้ระยะเวลาในการเดินทางเพียง 5 นาทีก็ถึงที่หมาย แต่ถ้าเธอใช้การเดินทางโดยรถยนต์จะใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 นาที่ เพราะต้องรอรถคันอื่นๆ ไปก่อน(แบบว่ารถติดนะ) อีกทั้งต้องเสียพลังงานน้ำมันด้วย เธอจึงเลือกการเดินทางแบบได้พลังงานมากกว่าเสียพลังงาน คือ การเดินเท้าไปโรงเรียน นอกจากจะได้พลังงานแล้ว ยังมีโอกาสที่จะสร้างมิตรภาพระหว่างทางด้วย คือ การทำความรู้จักแม่ค้าขายไก่ทอด คุณยายที่เลี้ยงหลาน คุณลุงที่ขายข้าวตอนเช้า ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ก็มีจุดมุ่งหมายปลายทาง คือ โรงเรียนกาละพัฒน์ ในระหว่างการเดินทางคือคุณค่าที่เธอได้เรียนรู้จากบุคคลอื่นๆ

วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คุณค่าในสรรพสิ่ง


ธรรมชาติก่อกำเนิดสีสัน.......สีสันก่อกำเนิดความงาม
..............ดอกไม้ที่หล่นลงพื้นไม่ไร้ค่าเสียทีเดียว........................
เด็กๆ จากโรงเรียนนอกกะลาช่วยกันเก็บมาใช้เป็นสื่อในการเรียนรู้
...........ทดลองใช้มือน้อยๆ บีบๆ นวดๆ กับน้ำใสๆ.............
ไม่นานก็ได้น้ำดอกไม้สีสันสวยงามเหมือนดังสีของดอกไม้
...........แล้วทดลองนำผ้าสีขาวมาจุ่มลงไป.............
ผลการทดลอง........ไม่ใช่เป้าหมายสำคัญเท่ากับกระบวนการ
.............เด็กๆ ได้ชื่นชมและสัมผัสธรรมชาติที่งดงาม........
ได้รับความสุข สนุกสนานจากการได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ
ได้บริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กจากการบีบนวดดอกไม้.......
ได้รู้จักการรอคอยและให้โอกาสกับการเดินทางไปอย่างช้าๆ ของเวลา
และที่สำคัญคือ..........เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าในสรรพสิ่งค่ะ..........

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ชุมชนกาละพัฒน์


..งอกงาม..


....กาละพัฒน์ นัยยะหนึ่ง หมายถึง การงอกงามตามกาลเวลา.... เมื่อเราเดินเข้ามาในชุมชนกาละพัฒน์สิ่งแรกที่เห็นคือสวนผัก ผลไม้ ดอกไม้ซึ่งเป็นอีกมุมของกาละพัฒน์ที่งอกงามตามกาลเวลาเพราะระหว่างที่ชุมชนนี้กำลังก่อสร้าง พืชผักที่ได้รับการใส่ใจได้ค่อย ๆ เจริญเติบโต เบ่งบาน และออกผลิตผลของความใส่ใจให้เราได้ชื่นชม ด้วยมือทั้งสองข้างของลุงพร ที่ค่อยๆ ปลูกอย่างตั้งใจไม่เร่งรัดให้ออกผล แต่ให้งอกงามตามกาลเวลาของมัน ทำให้พืชต่าง ๆ พร้อมใจกันออกดอก ออกผล ที่ชวนให้ชื่นชมและน่าลิ้มลอง....และคุณลุงยังทำให้เข้าใจความหมาย ของการงอกงามตามกาลเวลา ได้อย่างลงตัว.....
....งอกงามตามกาลเวลา....



วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กัลยาณมิตร

การเดินทางมาภูเก็ตครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3
ครั้งแรกมาพร้อมกับคณะครูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เพื่อศึกษาดูงานจังหวัดกระบี่ พังงาและภูเก็ต การมาครั้งนั้นเสมือนการวิ่งผ่าน ทุกอย่างเป็นไปตามเวลา ตามกำหนดการ ไปเป็นคณะ จึงไม่มีเวลาชื่นชมความงามของภูเก็ตอย่างแท้จริง

ครั้งที่สอง เดินทางมาเพื่อพบกลุ่มผู้ปกครองที่สนใจแนวทางการศึกษานอกกะลา มีเวลาอยู่ภูเก็ต 2 วัน ซึ่งช่วงเวลานั้นได้เรียนรู้และรู้จักคนภูเก็ต มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรื่องการศึกษา รู้สึกตื่นเต้นและสนุกดี

ครั้งที่สาม ครั้งนี้มีเวลาอยู่ที่ภูเก็ตนาน เป็นระยะเวลา 8 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 จึงมีเวลาศึกษาและเรียนรู้จังหวัดภูเก็ต โดยวิธีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ปกครอง บุคคลทั่วไป อีกทั้งอ่านจากหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดภูเก็ต พร้อมศึกษาจากสถานที่จริง การมาครั้งนี้ทำให้รู้จักคำว่า “กัลยาณมิตร” แปลความหมายคำ
“กัลยาณ” ว่า หมายถึง งาม, ดี
และ “มิตร” หมายถึง เพื่อนรักใคร่ที่สนิทสนมคุ้นเคย
ดังนั้น กัลยาณมิตร จึงมีความหมายว่า เพื่อนที่ดี, เพื่อนที่งาม หรือเพื่อนที่รักใคร่คุ้นเคยที่ดี, เพื่อนรักใคร่คุ้นเคยที่งาม
ช่วยหาหนังสือให้ ช่วยพาไปดูสถานที่ต่างๆ ช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องรับสมัครครู รับสมัครนักเรียนและร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องการศึกษา ขอบคุณสำหรับสิ่งที่ดีงาม

วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พลังกลุ่ม


มองคนเดียว เห็นคนเดียว
มองสองคน เห็นสองคน
มองหลายคน เห็นหลายมุม


โรงเรียนกาละพัฒน์ เปิดรับสมัครนักเรียนชั้นอนุบาล 1 2 3 ในวันอาทิตย์ ที่ 30 เดือนมกราคม พ.ศ.2554
ช่วงเช้ามีกลุ่มผู้ปกครองมาเพื่อพูดคุยซักถามเป้าหมาย แนวทางและทิศทางของโรงเรียน ทุกคนมาเพราะเชื่อมั่นและศรัทธาในแนวคิด มองเห็นความเป็นได้
โดยที่ไม่ติดรูปแบบใดๆ เลย ถึงแม้ว่าอาคารเรียนนั้นจะยังไม่ก่อสร้าง ทุกคนก็ยังให้ความไว้วางใจ โรงเรียนกาละพัฒน์

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

การเปลี่ยนแปลง

การก่อสร้างโรงเรียนกาละพัฒน์
เริ่มต้นจากการปรับพื้นดิน
เพื่อสร้างอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการต่างๆ







บริเวณด้านหน้าโรงเรียนติดถนนเจ้าฟ้าตะวันตก







View Larger Map

ประกาศรับสมัครนักเรียน

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

ความสุขแห่งการเรียนรู้

จบลงอย่างมีความสุข กับ Quarter 3 ในโครงงาน "My Pets สัตว์เลี้ยงแสนรัก" เรื่องราวของ...กระต่าย...

ทุกสรรพสิ่งมีคุณค่าเสมอ ถ้าเราใช้หัวใจเรียนรู้

"กระต่ายเป็นสิ่งมีชีวิต ดำรงชีวิตเหมือนมนุษย์ ต้องการความรักและการอยู่ร่วมกันในสังคมเช่นเดียวกันกับมนุษย์"

ตลอดเวลา 10 สัปดาห์ คุณครูและเด็กๆ ค่อยๆ ก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ต่างช่วยกันค้นหาคำตอบในสิ่งที่อยากเรียนรู้จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ


แล้ว...เก็บข้อมูลความรู้ไว้ในหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความรักในสรรพสิ่ง ถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ออกมาผ่านผลงานชิ้นเล็กๆ ที่สังเคราะห์ขึ้นจากเศษวัสดุที่เด็กๆ ช่วยกันเก็บหามาจากที่ต่างๆ เป็นเศษวัสดุ เป็นของเหลือใช้ที่ผู้ใหญ่เลือกที่จะไม่ใช้มันแล้ว รวมทั้งความร่วงโรยของธรรมชาติที่ไม่มีใครแยแสมันแล้วเช่นกัน...แต่...เด็กๆ มองเห็นคุณค่าในทุกสรรพสิ่ง นำมันมาร้อยเรียงด้วยนิ้วมือเล็กๆ อย่างยากลำบาก แต่ก็เต็มไปด้วยความบากบั่นอดทน จนได้ออกมาเป็นชิ้นงานตามจินตนาการของตนเอง อิ่มเอมเปรมปรีดิ์และภาคภูมิใจกันไปถ้วนหน้า

กระต่ายน้อยน่ารัก เห็นแก่ความสุขของเด็กๆ จึงได้เดินทางมาพบ มาให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะรู้จักการดูแล เอาใจใส่ มอบความรัก ให้เด็กๆ มีโอกาสเฝ้าสังเกตรูปร่าง ลักษณะ อวัยวะต่างๆ ตลอดจนพฤติกรรมที่แสดงออกมา

สำหรับเด็กๆ แล้ว นี่เป็นก้าวเล็กๆ ที่มีความหมายมากมาย มีความสุขทุกๆ วันกับการมาเรียน อยากตื่นมาโรงเรียนแต่เช้า เพราะรู้ว่ามีเรื่องราวที่น่าค้นหารออยู่ นี่แหละ...ความสุขแห่งการเรียนรู้ ทุกๆ วันจะมีรอยยิ้มและประสบการณ์ใหม่ๆ ที่อยากจะแบ่งปันให้กับทุกๆ คน