วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ส่งคำขอบคุณ แทน ของขวัญ

ถึง สมาชิกชุมชนกาละพัฒน์ทุกท่าน

ในโอกาสที่จะถึงวันเปลี่ยนผ่านปีพ.ศ. หลายคนก็ใช้โอกาสนี้แสดงความยินดีโดยการมอบของขวัญ การ์ดอวยพร
ให้กันและกัน ก็เลยอยากชวนคิดเรื่องนี้ครับ ว่าการให้ของขวัญในเทศกาลนี้ส่งความสุขได้จริงหรือ และหากไม่ให้ของขวัญ จะให้อะไรกันดีหละ จะได้มีความสุขกันทั่วหน้า

ข้อมูลจาก http://www.recycleworks.org/resident/holiday_facts.html บอกว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่เฉพาะในอเมริกา การ์ดอวยพรมียอดขาย 2.6 พันล้านใบ ซึ่งหากมาตั้งรวมกันในสนามฟุตบอลจะเท่ากับตึกสูง 10 ชั้น
โบว์ที่ผูกของขวัญรวมกันยาว 38,000 ไมล์ ซึ่งพันรอบโลกได้หนึ่งรอบพอดี
ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อได้รับก็ต้องให้ตอบ ให้กันไปให้กันมา เลยไม่รู้ว่าเป็นเทศกาลปล่อยของ หรือ ให้ความสุขกันแน่

Marcus Tullius Cicero (http://en.wikipedia.org/wiki/Cicero) นักปรัชญาชาวกรีกที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ 43 ปีก่อนคริสต์กาล ได้กล่าวว่า "ความรู้สึกชื่นชมและขอบคุณ" ไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคุณธรรม
แต่เป็นต้นกำเนิดของคุณธรรมอื่น ๆ ทั้งหมด นักจิตวิทยาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพบว่า "ความรู้สึกชื่นชมและขอบคุณ"
มีส่วนสำคัญมากต่อพื้นฐานของอารมณ์ และพบความสัมพันธ์ชัดเจนระหว่างความสุข กับการที่จะรู้จักชื่นชมและขอบคุณต่อสิ่งต่างๆ มีการทดลองเพื่อหาวิธีการเพิ่มความสุข Seligman และคณะทดลองและรายงานในปี 2005 พบว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยเขียนสิ่งที่ "ชื่นชมและอยากขอบคุณ" 3 อย่าง ทุกวัน (gratitude journals) พบว่าคะแนนความสุข (Happiness Score) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ว่าจะวัดซ้ำครั้งใดเมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าคะแนนเพิ่มขึ้นตลอด
แม้ว่าสิ้นสุดการวิจัยไปแล้ว ผู้เข้าร่วมหลายคนยังยืนยันที่จะทำต่อและงานวิจัยอื่นในรูปแบบนี้ก็ให้ผลยืนยันว่า
ได้ผลต่อความสุขที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ความรู้สึก "ชื่นชมและขอบคุณ" เป็นสิ่งที่ส่งผลอย่างมากต่อความคิดของคนเมื่อต้องเผชิญปัญหา
ผู้ที่มีพื้นฐานอารมณ์ "ชื่นชมและขอบคุณ" จะมีมุมมองเรื่องราวต่างๆ เป็นบวก แก้ปัญหาและอุปสรรคได้อย่างดี
ไม่มีจิตตก ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า มีแนวโน้มที่จะมองข้ามเรื่องแย่ๆ ของคนหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่สนใจมองแต่สิ่งดีๆแทน และส่งผลทำให้สุขภาพดี
มีงานวิจัยพบว่า หากจะให้ชีวิตคู่รักกันหวานแหววไปตลอด หากข้อดีที่จะ "ชื่นชมและขอบคุณ"
ให้ได้ 5 ข้อ ก่อนที่จะหาข้อตำหนิหรือไม่พอใจ หากในที่ทำงานเพื่อนร่วมงานกันให้มองหาสิ่งที่ "ชื่นชมและขอบคุณ"
ให้ได้ 3 ข้อ ก่อนที่จะตำหนิและไม่พอใจ 1 อย่าง

เรามักพบเรื่องราวแบบนี้ได้ในคนที่พบว่าเป็นโรคร้าย คนที่พิการทั้งตั้งแต่กำเนิด หรือจากอุบัติเหตุ
ที่เมื่อเปลี่ยนความคิดที่มา "ขอบคุณ" สิ่งร้ายๆ(ในสายตาคนอื่น) ว่าทำให้เขาเห็นคุณค่าของเวลาและชีวิต
และจะใช้เวลาที่มีอยู่นี้ทุกขณะทำสิ่งดีให้เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่เพื่อตนเอง แต่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนมากมาย
ซึ่งคนเหล่านี้กลับมีพลังอย่างมหาศาลจนบางครั้งก็หายป่วยจากโรคนั้นไปเลย

"ขอบคุณ" เป็นคำง่ายๆ และสุขใจทั้งผู้เอ่ยคำและผู้ฟัง ในเทศกาลปีใหม่นี้สามารถสร้างความรู้สึก "ชื่นชมและขอบคุณ" ขึ้นจากส่วนลึกของหัวใจ โดยการ "ชื่นชมและขอบคุณ" คนใกล้ตัว คนรัก คนไกลตัว ต้นไม้ อากาศ น้ำท่วม คราบรา
Big Bag นักการเมือง ฯลฯ

พูดออกมาเลย ใช้แรงไม่มาก ไม่ก่อขยะ แต่ติดตราตรึงในดวงใจไปอีกนาน

ส.ค.ส. “ส่ง ความสุข” เปลี่ยนมาเป็น ส.ค.ข. "ส่ง คำ ขอบคุณ" แทนการให้ของขวัญ เพื่อเป็นวัฒนธรรมนอกกะลา
เพราะสามารถลด Carbon foot print และสร้างความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ

ขอบคุณ ทุกคนที่มาร่วมกันสร้างความสุขให้งอกงามตามกาลเวลา ณ ชุมชนกาละพัฒน์ครับ

หมอก้อง

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พัฒนาการด้านอารมณ์

เมื่อเช้าน้องเนยนักเรียนชั้นอนุบาล 1 เดินเข้ามาโรงเรียนพร้อมกับคุณพ่อ คุณแม่ พอเดินมาถึงห้องเรียนของพี่ๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 น้องเนยก็เดินเลี้ยวไปด้านหลังห้อง เดินผ่านสนามเด็กเล่นไป พอพบกับคุณครูแจ๋ว น้องเนยก็กล่าวทักทายด้วยการสวัสดี พร้อมกับยกมือไหว้ด้วย หลังจากนั้นก็ยกนิ้วชี้ขึ้นมาทำสัญญาณให้เงียบ

น้องเนย:ครูแจ๋วน้องเนยจะไปจ๊ะเอ๋ คุณครูตาลและคุณครูภาข้างหลังห้องค่ะ

จากนั้นก็เดินย่องเบาๆๆ ไปจนถึงข้างหลังห้องเรียนอนุบาล 1 แล้วมองซ้าย มองขวาเพื่อไม่ให้คุณครูเห็น เมื่อรู้ว่าไม่มีใครเห็นจึงเดินเข้าไปให้ใกล้ที่สุด

น้องเนย: จ๊ะเอ๋

คุณครูและน้องเนยหัวเราะชอบใจ จึงเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เด็กมีความสุข คุณครูมีความสุขและทุกคนมีความสุข

มิตรภาพหรือความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้คลื่นสมองต่ำ พร้อมสำหรับการเรียนรู้ เพราะแต่ละคนอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย ไม่ต้องกดดัน ไม่ต้องระวังตัว

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ล้ม...แล้วลุก


เช้าวันหนึ่งได้ยินเสียงพี่ธรรม์ นักเรียนชั้นอนุบาล๒ วิ่งและหัวเราะมาอย่างสดใสร่าเริง จนกระทั่งมาสะดุดก้อนหินแล้วล้มลงไป ทำให้เข่าทั้งสองข้างและข้อศอกมีแผล จากเสียงหัวเราะก็เปลี่ยนไปเป็นเสียงร้องไห้ ยิ่งรู้สึกเจ็บมาก ยิ่งเปล่งเสียงร้องออกมาดัง เมื่อคุณครูแทนเห็นเหตุการณ์จึงเข้าไปช่วยปฐมพยาบาลให้ แต่พี่ธรรม์ยังไม่หายเจ็บ จึงนั่งร้องไห้ต่อ หลังจากที่คุณพ่อพี่ธรรม์ได้เก็บกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว จึงเดินกลับมาดูลูกชาย พร้อมพูดว่า

พ่อพี่ธรรม์:ทุกคนก็เคยล้มลูก อดทนนะ เดี๋ยวก็หาย

จากนั้นคุณพ่อก็ไปทำงาน คุณครูและผู้ปกครองคนอื่นๆ ต่างก็ช่วยกันเป็นกำลังใจให้พี่ธรรม์ บ้างก็เล่าเหตุการณ์ของตนเองที่เคยล้มมา บ้างก็เล่าเหตุการณ์ของลูกชายและลูกสาว ขณะเล่ายังทำท่าทางประกอบอีกด้วย ทำให้พี่ธรรม์รู้สึกผ่อนคลาย ย่อมรับและเข้าใจในเหตุการณ์เหล่านั้น จึงมีอาการเจ็บปวดน้อยลง พร้อมจะลุกขึ้นเดินด้วยตนเองอีกครั้ง โดยพยายามพยุงตัวลุกขึ้นและเดินต่อไปข้างหน้า ทั้งๆ ที่ยังรู้สึกเจ็บ แต่ด้วยกำลังใจจากตนเองและบุคคลรอบข้าง จึงทำให้สามารถเดินได้อีกครั้งและตลอดทั้งวันพี่ธรรม์ก็ทำทุกอย่างเหมือนปกติ

เช้าวันต่อมา พี่ธรรม์และคุณพ่อก็มาโรงเรียนด้วยรอยยิ้มและความสดใสเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือพี่ธรรม์รู้จักผู้ปกครองคนอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น มีการทักทายและถามถึงอาการของแผลเมื่อวานนี้ด้วย

รอยแผลจากการหกล้มของพี่ธรรม์ในครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่ง ที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด รู้สึกห่วงใย รู้สึกเอื้ออาทรต่อกัน รู้สึกไว้วางใจและปลอดภัย จึงมีพลังทำให้พี่ธรรม์กล้าลุกขึ้นและก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กระบวนการเรียนรู้ภาษา

การเรียนรู้ภาษาของโรงเรียนกาละพัฒน์ เป็นการเรียนรู้ภาษาโดยไม่ใช้แบบเรียน
แต่ให้เรียนรู้ผ่านการใช้ภาษาจริง จากการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลแวดล้อมและการเรียนรู้ผ่านวรรณกรรม
ในปีการศึกษาหนึ่ง จะแบ่งเป็น ๔ Quarter ซึ่งแต่ละQuarterจะเลือกมาให้เรียนรู้ไม่เหมือนกัน
เช่น นิทาน วรรณกรรมไทย วรรณกรรมต่างประเทศและวรรณคดีไทย

Quarter ๓ ของโรงเรียนกาละพัฒน์ เลือกวรรณกรรมต่างประเทศ เรื่องซนซนของโซฟี


















การสอนภาษา จะเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยที่ครูจะกระทำในสิ่งที่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรม ชง เชื่อม ใช้ ตามตัวอย่าง ดังนี้

ขั้นชง นักเรียนอ่านเรื่องโดยการอ่านออกเสียง(อ่านคนเดียว/อ่านต่อเนื่อง/อ่านพร้อมกัน)หรืออ่านในใจ หรือครูอ่านให้ฟัง แล้วเชื่อมโยงกับหลักภาษาที่ต้องการให้นักเรียนเข้าใจ














ขั้นเชื่อม นำเสนอคำที่ได้และแลกเปลี่ยนคำที่ได้กับเพื่อนในชั้น ซึ่งจะได้คำที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น วิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อตรวจสอบว่า ใช่หรือไม่ เพราะอะไร แล้วช่วยกันอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง หรือครูตั้งคำถามเพื่อให้เด็กแต่ละคนได้แสดงความคิด ได้รับฟังเพื่อรับรู้แง่มุมที่แตกต่าง เกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน โดยสอดรับกับพฤติกรรมสมอง คือ จำ เข้าใจ วิเคราะห์/สังเคราะห์ นำไปใช้ ประเมินค่า สร้างสรรค์

ขั้นใช้ให้นักเรียนได้ลงมือทำแบบฝึกหัด/งาน/ภาระงาน ที่สอดรับกับพฤติกรรมสมอง ดังตัวอย่างต่อไปนี้















































ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ภาษาในโรงเรียนกาละพัฒน์ จึงให้ความสำคัญกับการจัดประสบการณ์ให้เกิดการเรียนรู้จริง
อีกทั้งมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ รับรู้ ถ่ายทอด และใช้ภาษาเพื่อสื่อสารอย่างมีความหมาย